ตามนัยแห่งพจนานุกรมนั้น เป็นความหมายของภาษาในวงกว้าง คือ หมายถึง สื่อต่างๆที่ทำให้สามารถสื่อสาร ทำความเข้าใจกันได้
การสื่อสารทำความเข้าใจกันนี้มีหลายวิธี เช่น
1. ใช้กิริยาอาการ หรือ ท่าทาง เรียกว่า ภาษาใบ้ หรือ ภาษาท่าทาง
2. ใช้เสียงเปล่งออกมาเรียกว่า ภาษาพูด
3. ใช้เขียนเป็นรูปหรือเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า ภาษาภาพ
4. ใช้สิ่งของเพื่อมุ่งให้เกิดการสื่อความหมาย เรียกว่า ภาษาวัตถุ
5. ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือเพื่อสื่อความหมาย เรียกว่า ภาษาเขียน
นอกจากนั้นเราอาจแบ่งภาษาตามลักษณะของการรับรู้ได้ 3 ประเภท คือ
1. จักษุภาษา คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจทางสายตา เช่น การพยักหน้า การโบกธง ตัวหนังสือ เป็นต้น
2. โสตภาษา คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจทางหู เช่น เสียงพูด เสียงนกหวีด เสียงระฆัง เป็นต้น
3. สัมผัสภาษา (บางท่านเรียก ผัสสภาษา) คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจกันทางสัมผัส เช่น ตัวหนังสือของคนตาบอดที่ใช้นิ้วสัมผัส ซึ่งเป็นตัวหนังสือที่ทำไว้นูนๆ เรียกว่า อักษรเบรลล์
อย่างไรก็ตาม "ภาษา" ยังมีความหมายในวงแคบ คือหมายถึง เสียงพูดที่มีระเบียบและมีความหมาย ซึ่งมนุษย์ใช้ในการสื่อความคิด ความรู้สึก และในการที่จะให้ผู้ที่เราพูดด้วยทำสิ่งที่เราต้องการและแทนสิ่งที่เราะพูดถึง
ดังนั้นภาษาจึงประกอบด้วยเสียงพูดและความหมาย โดยมีเสียงเป็นอาการภายนอกและความหมายเป็นอาการภายใน และทั้งเสียงพูดและความหมายนี้ต้องสัมพันธ์กัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงทำให้ผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจตรงกัน และผู้ฟังก็สามารถโต้ตอบได้
นักภาษาศาสตร์มีความเป็นตรงกันว่า ภาษาที่แสดงออกด้วยเสียงพูดหรือคำพูดเท่านั้น จึงจะเป็นภาษาที่แท้จรอง สำหรับเครื่องสื่อความหมายอย่างอื่นๆนั้น ไม่สามารถนับได้ว่าเป็นภาษา แม้จะเป็นอาการที่เกือบจะเป็นสากลที่พอจะเข้าใจกันทั่วไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มีระบบหรือระเบียบที่แน่นอนและไม่ได้เป็นเสียงอีกด้วย
ส่วนนักมานุษยวิทยาลงความเห็นว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีภาษา สำหรับสัตว์ถึงแม้จะร้องได้และเข้าใจกันได้บ้าง ก็เป็นเพียงการแสดงอารมณ์ เช่น ความกลัว ความดีใจ ความโกรธ จึงถือเป็นสัญญาณ (sign) และถือเป็นสัญชาตญาณ คือ รู้เอง เป็นเอง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง งอกงาม เมื่อร้อยปีเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น หรืออย่างนกแก้ว นกขุนทองที่สามารถร้องเป็นภาษาของมนุษย์ได้ แต่นกขุนทองก็ไม่สามารถเอาคำอื่นไปแทนคำหนึ่งคำในประโยคเพื่อให้โต้ตอบกันได้ เราจึงถือว่านกแก้ว นกขุนทองเลียนภาษาของมนุษย์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวหนังสือจะเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูด แต่ตัวหนังสือก็มีระบบ กฎเกณฑ์แทนเสียงพูดได้เกือบจะสมบูรณ์ เราจึงถือว่าตัวหนังสือมีความสำคัญเท่ากับเสียงพูด และเมื่อกล่าวถึงภาษาก็มักจำกัดวงอยู่เฉพาะภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นสำคัญ
กล่าวโดยสรุปได้ว่า "ภาษา" มีทั้งความหมายกว้างและความหมายแคบ
ความหมายกว้าง ภาษา หมายถึง สื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ
ความหมายแคบ หมายถึง เสียงพูดที่เปล่งออกมาเข้าใจตรงกัน โต้ตอบกันได้ และมนุษยฺเท่านั้นที่มีภาษา
ภาษามนุษย์จะต้องมีการเรียนรู้ มีการสอนกันสืบต่อมา และมีความเจริญวิวัฒนาการเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มนุษย์มีความเจริญ และมีความเป็นอยู่ดีกว่าสัตว์
เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น